วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นวัตกรรม

                http://www.st.ac.th/av/inno_mean.htm  ได้กล่าวถึงนวัตกรรม (Innovation) ไว้ดังนี้
                นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การนำสิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นแนวความคิด หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย และได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
               นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิด หรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียนและช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น

                นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
       - ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย        
       - ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
       - ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์
              
                หลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาว่าสิ่งใดคือ นวัตกรรม
1.  เป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน
2.  มีการนำวิธีการจัดระบบ (System Approach) มาใช้พิจารณาองค์ประกอบทั้งส่วนข้อมูลที่ใช้เข้าไปในกระบวนการ
และผลลัพธ์ให้เหมาะสมก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง
3.  มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยหรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่าจะช่วยให้ดำเนินงานบางอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
4.  ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งในระบบงานปัจจุบัน



นิลรัตน์ นวกิจไพฑูรย์  (https://www.gotoknow.org/posts/492060)  ได้กล่าวถึงนวัตกรรมไว้ว่า  คำว่านวัตกรรมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Innovation” โดยมีรูปศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คือ นว +อตต+กรรม  ทั้งนี้ คำว่า นว แปลว่า ใหม่ อัตต แปลว่า ตัวเอง และกรรมแปลว่าการกระทำ เมื่อรวมเป็นคำว่านวัตกรรม ตามรากศัพท์หมายถึง การกระทำที่ใหม่ของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับคำนิยามของ       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (2549) ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรมคือ      สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
 ดังนั้นน่าจะสรุปได้ว่า นวัตกรรม หมายถึง สิ่งใหม่ที่กระทำซึ่งเกิดจากการใช้ความรู้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์  สิ่งใหม่ในที่นี้อาจจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ แนวคิด หรือกระบวนการ  ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนา
 องค์ประกอบของนวัตกรรม   ประกอบด้วย
1.ความใหม่ ใหม่ในที่นี้คือ สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน  เคยทำมาแล้วในอดีตแต่นำมารื้อฟื้นใหม่ หรือเป็นสิ่งใหม่ที่มีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม
2.ใช้ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา   นวัตกรรมต้องเกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างและพัฒนา ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบ หรือการทำซ้ำ
3.มีประโยชน์ สามารถนำไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาในการดำเนินงานได้ ถ้าในทางธุรกิจต้องมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม
4.นวัตกรรมมีโอกาสในการพัฒนาต่อได้
ขั้นตอนของนวัตกรรม 
1.การคิดค้น (Invention)  เป็นการยกร่างนวัตกรรมประกอบด้วยการศึกษาเอกสารทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรม การกำหนดโครงสร้างรูปแบบของนวัตกรรม
2.การพัฒนา ( Development)  เป็นขั้นตอนการลงมือสร้างนวัตกรรมตามที่ยกร่างไว้ การตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรมและการปรับปรุงแก้ไข
3.ขั้นนำไปใช้จริง(Implement) เป็นขั้นที่มีความแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติเดิมมา ในขั้นตอนนี้รวมถึงขั้นการทดลองใช้นวัตกรรม และการประเมินผลการใช้นวัตกรรม
4.ขั้นเผยแพร่ ( Promotion) เป็นขั้นของการเผยแพร่ การนำเสนอ หรือการจำหน่าย



ทิศนา แขมมณี  (2551:418)  ได้รวบรวมเกี่ยวกับนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรมหรือนวกรรม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แปลว่า การก่อสร้างวงการศึกษานำคำนี้มาใช้ในความหมายของ การทำขึ้นใหม่หรือ สิ่งที่ทำขึ้นใหม่ซึ่งได้แก่ แนวคิด แนวทาง ระบบ รูปแบบ วิธีการ กระบวนการ สื่อและเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งได้รับการคิดค้นและจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทางการศึกษา



สรุป
นวัตกรรม หมายถึง การทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล (Mckeown, 2008) และในหลายสาขา เชื่อกันว่าการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีความแปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นต้นว่า ในด้านศิลปะ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่า มูลค่าของลูกค้า หรือมูลค่าของผู้ผลิต เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
นวัตกรรม  มี 4 ขั้นตอนดังนี้
1.การคิดค้น (Invention) 
2.การพัฒนา ( Development)
3.ขั้นนำไปใช้จริง(Implement)
4.ขั้นเผยแพร่ ( Promotion)


ที่มา
http://www.st.ac.th/av/inno_mean.htm .   ความหมายนวัตกรรม.   เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2558.
นิลรัตน์ นวกิจไพฑูรย์.  [ออนไลน์https://www.gotoknow.org/posts/492060.   นวัตกรรม.   เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2558.
ทิศนา แขมมณี.  (2551).  ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น